บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ดร. สมบูรณ์ไม่รู้จักวิชชา 3


เนื้อหาในส่วนนี้ จะนำข้อความของดร. สมบูรณ์ วัฒนะ ที่ผมยกตัวอย่างไปแล้วในบทความ นิพพานไม่มีอยู่จริงมาวิพากษ์วิจารณ์ ให้ลึกลงไปในรายละเอียด

ขอกลับมาที่ย่อหน้าที่ 1 ในส่วนของ นิพพานไม่มีอยู่จริงที่ ดร. สมบูรณ์เขียนดังนี้

1) คำว่า นิพพานแปลว่า ความดับสนิท คือภาวะที่ตัณหาซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ดับสิ้นไป ภาวะที่จิตรู้แจ้งอริยสัจ 4 ทำลายกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทลงได้เด็ดขาด

คำว่า "นิพพาน" นั้น ผมเคยเขียนไว้ใน gotoknow แต่ตอนนี้ ผมถูกห้ามเข้าไปใน gotoknow จึงขอยกตัวอย่างในที่นี้ ดังนี้

พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญได้นำเสนอบทความในการเสวนาทางวิชาการ วันที่ 19กุมภาพันธ์ 2546 ณ ห้องประชุม 707 อาคารบรมราชกุมารี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความหมายของนิพพานไว้ว่า

นิพพานประกอบด้วยศัพท์ นิ (ออกไป, หมดไป, ไม่มี) + วานะ (พัดไป, ร้อยรัด) รวมเข้าด้วยกันแปลว่า ไม่มีการพัดไป ไม่มีสิ่งร้อยรัด

คำว่า "วานะ" เป็นชื่อเรียกกิเลสตัณหา โดยสรุป นิพพานก็คือไม่มีกิเลสตัณหาที่จะร้อยรัดพัดกระพือให้กระวนกระวายใจ

สมเด็จพระญาณสังวรได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ "ธรรมดุษฎี" หน้า 98 ว่า

คำว่า นิพพานนี้ประกอบขึ้นด้วยศัพท์คือ นิ กับ วาน ภาษาบาลีหรือมคธว่า นิพพาน ภาษาสันสกฤตว่า นิรวาณ แปลว่า ออกจากวาน หรือไม่มีวาน

คำว่า วาน นั้นอย่างหนึ่ง แปลว่าเครื่องเสียบแทง ใช้หมายถึงลูกศรก็มี อย่างหนึ่งแปลว่า เครื่องร้อยรัด ที่แปลว่าเครื่องเสียบแทงในที่นี้ก็คือ เครื่องเสียบแทงจิตใจ ถ้าหมายถึงลูกศร ก็หมายถึงลูกศรที่เสียบแทงจิตใจไว้ ส่วนที่แปลว่าเครื่องร้อยรัด ก็หมายถึงเครื่องร้อยรัดจิตใจนี้เอง

พุทธทาส  เขียนไว้ในหนังสือคู่มือมนุษย์ (2548?) ในหน้า 104 ดังนี้

นิพพานแปลว่า ไม่มีเครื่องทิ่มแทง อีกอย่างหนึ่งแปลว่า ความดับสนิทไม่มีเหลือ ฉะนั้น คำว่า นิพพานจึงมีความหมายใหม่ๆ เป็น 2 ประการ คือ ดับไม่มีเชื้อเหลือสำหรับจะเกิดมาเป็นความทุกข์อีกต่อไป นี่อย่างหนึ่ง

และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปราศจากความทิ่มแทง ความเผาลน ปราศจากความผูกพันร้อยรัดต่างๆ ทุกอย่างทุกประการรวมความแล้ว ก็แสดงถึงภาวะที่ปราศจากทุกข์โดยสิ้นเชิง

ดร. สมบูรณ์ วัฒนะนั้น ดูท่าว่า จะอ่านความหมายของนิพพานไม่ครบถ้วน  ซึ่งนอกจากความหมายของรากศัพท์แล้ว อันเป็นความหมายตรงตัวแล้ว ก็ควรอธิบายความหมายโดยนัยด้วย

ที่น่าจะนำมาพิจารณาอีกก็คือ  "ภาวะที่จิตรู้แจ้งอริยสัจ 4 ทำลายกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทลงได้เด็ดขาด"

ดร. สมบูรณ์ทำอย่างไร??

สำหรับพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ตรัสไว้ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ในการตอบปัญหาของชาณุโสณีพราหมณ์ ว่าพระองค์ใช้วิชชา 3 ขอยกตัวอย่างเฉพาะอาสวักขยญาณ ดังนี้

[๕๐] เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ โน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกข์สมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา.

เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ได้รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี.

ดูกรพราหมณ์ วิชชาที่สามนี้แล เราบรรลุแล้ว ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาเสียได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดเสียได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้นเหมือนเมื่อบุคคลไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน ส่งตนไปแล้วอยู่ฉะนั้น.

ในข้อเขียนของ ดร. สมบูรณ์นั้น ดูเหมือนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงวิชชา 3เสียเหลือเกิน เพราะ วิชชา 3 นี้ ยอมรับไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์

ก็นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกิดชาติเดียว  แล้วจะไปยอมรับได้อย่างไรว่า มีวิชชาหนึ่งที่รู้อดีตชาติของตนเองและผู้อื่น  และก็มีอีกวิชชาหนึ่ง ที่รู้อนาคตชาติของตนเองและผู้อื่น

วิชชา 3 จึงเป็นเรื่องแสลงโรคของพวกพุทธวิชาการมาก จนถึงมากที่สุด..



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น