บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ละ โลภ โกรธ หลงก็ไปนิพพานได้


เนื้อหาในส่วนนี้ จะนำข้อความของดร. สมบูรณ์ วัฒนะ ที่ผมยกตัวอย่างไปแล้วในบทความ “นิพพานไม่มีอยู่จริง” มาวิพากษ์วิจารณ์ ให้ลึกลงไปในรายละเอียด

ขอกลับมาที่ย่อหน้าที่ 2 ในส่วนของ “นิพพานไม่มีอยู่จริง” ที่ ดร. สมบูรณ์เขียนดังนี้

2) ภาวะที่ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง คือ ภาวะจริงแท้สูงสุด หรือสิ่งสัมบูรณ์ที่บัญญัติ และตรรกใดๆ เข้าถึงไม่ได้ อยู่เหนือกิเลส กรรม และวิบาก

ตรงนี้ ดร. สมบูรณ์พยายามอธิบายว่า ภาวะนิพพานนั้น ปราศจากความโลภ โกรธ หลง ถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างจริงจังว่า ข้อเขียนของ ดร. สมบูรณ์ วัฒนะ ในส่วนนี้ ถูกหรือผิดเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันยาวเลยทีเดียว

เพราะ ข้อเขียนนี้ “หมกเม็ด” อะไรหลายๆ อย่างไว้

ในทางการเมือง ในส่วนที่เป็น “ภาษาการเมือง” ท่านเรียกข้อเขียนแบบนี้ว่า “ความจริงครึ่งเดียว”  เจ้าความจริงครึ่งเดียวนี้  หนักหนาสาหัสสากรรจ์ ยิ่งกว่าการ “โกหก” เสียอีก

เพราะ ความจริงครึ่งเดียวเป็น “ความเท็จที่เคลือบด้วยความจริง”  ซึ่งทำให้ผู้คนหลงเชื่อกันมามากมายแล้ว 

เป็นยาพิษในคราบของขนมหวาน ว่าอย่างนั้นเถอะ

ถ้าถามกันอย่างซื่อว่า “นิพพานมี ความโลภ ความโกรธ ความหลงหรือไม่ คำตอบที่ตรงๆ ก็คือ “ไม่มี”

แต่การที่พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรมจนกระทั่ง “ความโลภ ความโกรธ ความหลง”  หมดสิ้นไปจากใจ  อย่างสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ  ไม่ได้หมายความว่าบุคคลเหล่านั้น บรรลุเป็นพระอรหันต์ ไปอุบัติอยู่บนอายตนะนิพพานกันหมด

เพราะ โลภ โกรธ หลง เป็นกิเลสหยาบๆ เท่านั้น

กิเลสทั้งหมดไม่ว่าจะหยาบหรือละเอียด ใครก็ตาม “ละ” ออกไปจากใจได้  ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้   ทำได้แต่เพียงเป็นโคตรภูบุคคลเท่านั้น

เมื่อใดก็ตามโคตรภูบุคคลเหล่านั้น ละสังโยชน์ 10 ได้ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท  รูปราคะ  อรูปราคะ  มานะ  อุทธัจจะ และ อวิชชา หมดจด เด็ดขาด จึงจะบรรลุเป็นพระอรหันต์

ถ้าได้เพียงบางส่วน ก็ยังเป็นพระอริยะบุคคลอยู่ คือ อาจจะเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี หรือพระอนาคามี ต่อเมื่อละสังโยชน์ 10 ได้ จึงจะเป็นพระอรหันต์

จากคำอธิบายที่ยกมาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นได้ว่า การเป็นนักปรัชญาแล้วมาศึกษาศาสนาพุทธนั้น  พุทธวิชาการเหล่านั้น มีเทคนิคมากมายในการที่โน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อความคิดของพวกเขาเหล่านั้น

พุทธวิชาการที่เป็นพระภิกษุ และศึกษาปรัชญาอย่างหลงงมงาย  งมงายว่าปรัชญาเลิศประเสริฐสุด แล้วมาตีความพระไตรปิฎกให้ผิดเพี้ยนไปตามปรัชญา

ภิกษุกลุ่มนี้  น่าตักบาตรท่านเหล่านั้นอยู่หรือไม่

ท่านทั้งหลาย  หรือเราจะ Vote No การใส่บาตรกับพระเหล่านี้ดูสักพักหนึ่ง  เพื่ออยากจะรู้ว่า  “ท่านจะกลับเนื้อกลับตัวได้หรือไม่?



ดร. สมบูรณ์ไม่รู้จักวิชชา 3


เนื้อหาในส่วนนี้ จะนำข้อความของดร. สมบูรณ์ วัฒนะ ที่ผมยกตัวอย่างไปแล้วในบทความ นิพพานไม่มีอยู่จริงมาวิพากษ์วิจารณ์ ให้ลึกลงไปในรายละเอียด

ขอกลับมาที่ย่อหน้าที่ 1 ในส่วนของ นิพพานไม่มีอยู่จริงที่ ดร. สมบูรณ์เขียนดังนี้

1) คำว่า นิพพานแปลว่า ความดับสนิท คือภาวะที่ตัณหาซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ดับสิ้นไป ภาวะที่จิตรู้แจ้งอริยสัจ 4 ทำลายกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทลงได้เด็ดขาด

คำว่า "นิพพาน" นั้น ผมเคยเขียนไว้ใน gotoknow แต่ตอนนี้ ผมถูกห้ามเข้าไปใน gotoknow จึงขอยกตัวอย่างในที่นี้ ดังนี้

พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญได้นำเสนอบทความในการเสวนาทางวิชาการ วันที่ 19กุมภาพันธ์ 2546 ณ ห้องประชุม 707 อาคารบรมราชกุมารี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความหมายของนิพพานไว้ว่า

นิพพานประกอบด้วยศัพท์ นิ (ออกไป, หมดไป, ไม่มี) + วานะ (พัดไป, ร้อยรัด) รวมเข้าด้วยกันแปลว่า ไม่มีการพัดไป ไม่มีสิ่งร้อยรัด

คำว่า "วานะ" เป็นชื่อเรียกกิเลสตัณหา โดยสรุป นิพพานก็คือไม่มีกิเลสตัณหาที่จะร้อยรัดพัดกระพือให้กระวนกระวายใจ

สมเด็จพระญาณสังวรได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ "ธรรมดุษฎี" หน้า 98 ว่า

คำว่า นิพพานนี้ประกอบขึ้นด้วยศัพท์คือ นิ กับ วาน ภาษาบาลีหรือมคธว่า นิพพาน ภาษาสันสกฤตว่า นิรวาณ แปลว่า ออกจากวาน หรือไม่มีวาน

คำว่า วาน นั้นอย่างหนึ่ง แปลว่าเครื่องเสียบแทง ใช้หมายถึงลูกศรก็มี อย่างหนึ่งแปลว่า เครื่องร้อยรัด ที่แปลว่าเครื่องเสียบแทงในที่นี้ก็คือ เครื่องเสียบแทงจิตใจ ถ้าหมายถึงลูกศร ก็หมายถึงลูกศรที่เสียบแทงจิตใจไว้ ส่วนที่แปลว่าเครื่องร้อยรัด ก็หมายถึงเครื่องร้อยรัดจิตใจนี้เอง

พุทธทาส  เขียนไว้ในหนังสือคู่มือมนุษย์ (2548?) ในหน้า 104 ดังนี้

นิพพานแปลว่า ไม่มีเครื่องทิ่มแทง อีกอย่างหนึ่งแปลว่า ความดับสนิทไม่มีเหลือ ฉะนั้น คำว่า นิพพานจึงมีความหมายใหม่ๆ เป็น 2 ประการ คือ ดับไม่มีเชื้อเหลือสำหรับจะเกิดมาเป็นความทุกข์อีกต่อไป นี่อย่างหนึ่ง

และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปราศจากความทิ่มแทง ความเผาลน ปราศจากความผูกพันร้อยรัดต่างๆ ทุกอย่างทุกประการรวมความแล้ว ก็แสดงถึงภาวะที่ปราศจากทุกข์โดยสิ้นเชิง

ดร. สมบูรณ์ วัฒนะนั้น ดูท่าว่า จะอ่านความหมายของนิพพานไม่ครบถ้วน  ซึ่งนอกจากความหมายของรากศัพท์แล้ว อันเป็นความหมายตรงตัวแล้ว ก็ควรอธิบายความหมายโดยนัยด้วย

ที่น่าจะนำมาพิจารณาอีกก็คือ  "ภาวะที่จิตรู้แจ้งอริยสัจ 4 ทำลายกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทลงได้เด็ดขาด"

ดร. สมบูรณ์ทำอย่างไร??

สำหรับพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ตรัสไว้ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ในการตอบปัญหาของชาณุโสณีพราหมณ์ ว่าพระองค์ใช้วิชชา 3 ขอยกตัวอย่างเฉพาะอาสวักขยญาณ ดังนี้

[๕๐] เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ โน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกข์สมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา.

เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ได้รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี.

ดูกรพราหมณ์ วิชชาที่สามนี้แล เราบรรลุแล้ว ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาเสียได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดเสียได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้นเหมือนเมื่อบุคคลไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน ส่งตนไปแล้วอยู่ฉะนั้น.

ในข้อเขียนของ ดร. สมบูรณ์นั้น ดูเหมือนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงวิชชา 3เสียเหลือเกิน เพราะ วิชชา 3 นี้ ยอมรับไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์

ก็นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกิดชาติเดียว  แล้วจะไปยอมรับได้อย่างไรว่า มีวิชชาหนึ่งที่รู้อดีตชาติของตนเองและผู้อื่น  และก็มีอีกวิชชาหนึ่ง ที่รู้อนาคตชาติของตนเองและผู้อื่น

วิชชา 3 จึงเป็นเรื่องแสลงโรคของพวกพุทธวิชาการมาก จนถึงมากที่สุด..



นิพพานไม่มีอยู่จริง


วันนี้มาวิพากษ์วิจารณ์กันต่อ  เนื้อหาบทความของ ดร. สมบูรณ์ วัฒนะต่อไป มีดังนี้

นิพพาน

1) คำว่านิพพานแปลว่า ความดับสนิท คือภาวะที่ตัณหาซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ดับสิ้นไป ภาวะที่จิตรู้แจ้งอริยสัจ 4 ทำลายกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทลงได้เด็ดขาด

2) ภาวะที่ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง  คือภาวะจริงแท้สูงสุดหรือสิ่งสัมบูรณ์ที่บัญญัติ และตรรกใดๆ เข้าถึงไม่ได้ อยู่เหนือกิเลส กรรม และวิบาก

3) ภาวะแห่งนิพพาน คือ ภาวะที่เกิดขึ้นในบุคคลผู้ที่ทำลายกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทในตัวบุคคลนั่นเอง หรือถ้าจะกล่าวให้กระชับเข้าก็คือ กระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทไม่ได้มีอำนาจบงการจิตของบุคคลนั้นได้ในทันทีที่บุคคลนั้นเข้าใจถ่องแท้ในอริยสัจทั้งสี่

4) นิพพานไม่ใช่ภาวะที่บุคคลจะต้องเดินทางไปให้ถึง หรืออยู่ภายนอกบุคคลที่เขาจะต้องออกจากสังสารวัฏที่แห่งหนึ่ง ไปสู่วิวัฏอีกแห่งหนึ่ง

ตรงนี้ ผมแบ่งย่อหน้าให้ ดร. สมบูรณ์ วัฒนะ เองเพื่อสะดวกในการวิพากษ์วิจารณ์  ดร. สมบูรณ์ วัฒนะ ฟันธงเลยว่า นิพพานไม่มี

การฟันธงของ ดร. สมบูรณ์ วัฒนะ อันนี้หนักกว่าพวกที่วิเคราะห์นิพพานเป็นนิจจัง/สุขัง/อนัตตาเสียอีก  ไปสุดกู่กว่ากันเข้าไปอีก

ขอให้ผู้อ่านทั้งหลายรู้เท่าทัน พวกพุทธวิชาการเหล่านี้  พุทธวิชาการเหล่านี้ เขียนหนังสือนั้น เขาเลือกเฉพาะข้อความที่เห็นว่า สนับสนุนความคิดของเขามาเขียน 

เนื้อหาในพระไตรปิฎกที่ตรงข้ามกับความคิดของเขา พวกเขาเหล่านั้น จะทำหลับหูหลับตาเสมือนว่า ไม่มีเนื้อหานั้นในพระไตรปิฎก

ที่ผมสามารถกล่าวว่า ทำหลับหูหลับตาเสมือนว่า เนื้อหาเหล่านั้นไม่มีในพระไตรปิฎก ก็เพราะ พุทธวิชาการเหล่านั้น “รู้” ว่า “เนื้อหา” ที่ขัดแย้งกับความคิดของตัวเขา “มีอยู่”  แต่เขาไม่เชื่อ จึงไม่กล่าวถึงเสียเลย

ผมขอยกตัวอย่างนิพพานสูตรที่ 1 ดังนี้

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

อุทาน ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ ๑. นิพพานสูตรที่ ๑

[๑๕๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมมีกถาอันปฏิสังยุตต์ด้วยนิพพาน ก็ภิกษุเหล่านั้นกระทำให้มั่น มนสิการแล้วน้อมนึกธรรมีกถาด้วยจิตทั้งปวงแล้ว เงี่ยโสตลงฟังธรรม

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย

อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุปบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ

ข้อความที่ยกไปนั่น ผู้แปลพระไตรปิฎกทุกฉบับ แปลสอดคล้องกันว่า อายตนะนิพพานมีอยู่ 

ทำไม ดร. สมบูรณ์จึงไม่ยกพระสูตรนี้ขึ้นมา แล้วอธิบายหักล้างให้ได้ว่า คณะผู้แปลพระไตรปิฎกไม่รู้กี่ชุดนั้น แปลผิด

พระสูตรนั้นควรแปลเป็นอย่างนี้ ซึ่งสรุปว่า นิพพานไม่มี 

ถ้า ดร. สมบูรณ์ทำเพียงแค่นี้ ก็เป็นข้อเขียนที่ไม่ได้มาตรฐานทางตรรกวิทยา  ในทางตรรกวิทยานั้น เราต้องเสนอหลักฐานทั้ง 2 ทาง แล้วอธิบายหักล้างให้ได้

อย่างที่ผมทำอยู่นี้ไง...